กระทรวงท่องเที่ยวฯ ผนึกกระทรวงเกษตรบูรณาการท่องเที่ยววิถีเกษตร
10 สิงหาคม 2558
วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2558 นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำพิธีลงนามความร่วมมือการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตร เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ภาคการเกษตร เป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวฯและกระทรวงเกษตรฯ สนองนโยบายรัฐบาลกระจายรายได้สู่เกษตรกร-ชุมชน กำหนดยุทธศาสตร์แผนดำเนินการ ปี 2558-2560 นำร่อง 4 เมืองหลักในปี 2558 มั่นใจครอบคลุมพื้นที่ 12 เมืองต้อง...พลาด เขตพัฒนาการท่องเที่ยว 8 คลัสเตอร์ และครอบคลุมไปทุกภูมิภาคภายในปี 2560
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับสินค้าคุณภาพ และมุ่งเน้น การกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรและแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และมีแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร การส่งเสริมด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตร การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง ซึ่งให้มีการกระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่ปี 2558-2560
ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะเริ่มต้น (ปี 2558) กำหนดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนำร่อง 4 จังหวัด ในพื้นที่ 12 เมืองต้องห้าม...พลาด เนื่องจากเป็นเมืองดาวรุ่ง มีเอกลักษณ์และศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว และสามารถช่วยกระจายนักท่องเที่ยวจากแหล่งท่องเที่ยวหลักได้ ได้แก่ 1.แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรคลองมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม 2. แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอำเภอ ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช 3. แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และ 4. แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
ระยะกลาง (ปี 2559) กำหนดพื้นที่เพิ่มเติมอีก 9 จังหวัด (พื้นที่ 12 เมืองต้องห้าม...พลาด) ได้แก่ ลำปาง น่าน สมุทรสงคราม ราชบุรี จันทบุรี ตราด เลย ชุมพร และตรัง
ระยะยาวขยายผล (ปี 2560) พื้นที่ 12 เมืองต้องห้าม...พลาด เขตพัฒนาการท่องเที่ยว 8 คลัสเตอร์ และกระจายไปในทุกภูมิภาคของประเทศ
ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มีแนวทางการบูรณาการร่วมกันที่สำคัญ อาทิ 1. โครงการเชื่อมโยง B to A (Business to Agriculture) เช่นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ซื้อสินค้าตรงกับเกษตรกรผลิต ดังตัวอย่างกรณีของการปลูกและจำหน่ายผักออร์แกนิค 2. การพัฒนา Content แหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงสินค้าเกษตร เช่น Home Stay การท่องเที่ยววิถีข้าว การท่องเที่ยววิถีผ้า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การจัดกิจกรรม CSR หรืออื่นๆ 3. การพัฒนาตลาดชุมชน ตลาดสด ตลาดเช้า เพื่อเน้นการกระจายรายได้สู่ภูมิภาคโดยตรง รวมถึง Farmer market และการบูรณาการด้านการจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ และการเชื่อมโยงข้อมูล
โดยรูปแบบจะเน้นการจัดทำ content จุดขายสินค้าเกษตรที่โดดเด่นผนวกกับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งความเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า โรงแรม ตลาดชุมชนและตลาด Premium และออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยว เพื่อการขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบตาม 6 กิจกรรมที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย
1. แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่สามารถกำหนดเส้นทางให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่องและรองรับกรุ๊ปทัวร์ได้
2. โฮมสเตย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถพักค้างคืนได้ในลักษณะของโฮมสเตย์ เป็นแหล่งที่พักในชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เห็นวิถีชีวิตท้องถิ่น
3. ใกล้กรุงเทพมหานคร (One Day Trip) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางแบบไปเช้า-เย็นกลับได้ (ไม่ต้องพักค้างคืน)
4. มีกิจกรรมร่วมกัน (Joint Activity) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น การปลูกป่า การเก็บผลไม้รับประทานในสวน เป็นต้น
5. เป็นแหล่งผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร ที่มีคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีชื่อเสียง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
6. ผลิตสินค้าแปรรูป OTOP และสามารถเชื่อมโยงกับร้านอาหาร หรือโรงแรม เป็นแหล่งสินค้าของฝาก
แชร์บทความ :